พระราชทานเพลิงศพ
การขอพระราชทานเพลิงศพ เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ข้าพเจ้าได้ยิน
จึงคิดว่าหลายคนคงสนใจในเรื่องนี้ บทความพระราชทานเพลิงศพ มีบทความต่อเนื่องกัน
3 บทความ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับ
ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการพระราชทานเพลิงศพ
โกศ
ในอดีตผู้ได้รับพระราชทานโกศเป็นเครื่องเกียรติยศประกอบศพนั้น
เจ้าหน้าที่จะต้องมัดศพและบรรจุลงไปในโกศจริง ๆ
โดยจะต้องยกมือศพพนมที่หน้าอกและงอขาศพนั่งแบบชันเข่ามัดตราสังข์ด้วยเชือกที่ควั่นด้วยด้ายดิบ
จากนั้น จะนำผ้าขาวมาห่อศพ ผูกมัดตามรูปแบบเฉพาะแล้วผูกผ้าให้
เป็นปมเหนือศีรษะศพก่อนบรรจุลงโกศ
แต่ในปัจจุบันสำนักพระราชวังยินยอมให้ตั้งโกศบนจิตกาธาน
โดยไม่มีร่างของผู้ถึงแก่กรรมได้ (บรรจุลงหีบแล้วตั้งโกศประกอบแทน)
ทั้งนี้ เนื่องจากว่าโกศเป็นเครื่องแสดงเกียรติยศของผู้ตาย เป็นเครื่องหมายแห่งผลของการทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมาโดยตลอด
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีร่างของผู้ตายอยู่ในนั้น
น้ำหลวงพระราชทาน
บุคคลผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รวมทั้งพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ถือว่าเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
สมควรได้รับการยกย่องและประกาศเกียรติคุณโดยเฉพาะวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ดังนั้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและเครื่องเกียรติยศประกอบศพให้แก่ผู้วายชนม์
ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ทั้งนี้ ผู้ได้รับพระราชทานหีบทองลายสลัก หีบทองทึบจนถึงชั้นโกศ เป็นเครื่องเกียติยศประกอบศพ
น้ำหลวงพระราชทานจะบรรจุไว้ใน “หม้อถม” ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพที่ตํ่ากว่านี้ จะใช้ “หม้อเงิน”แทน
เครื่องเกียรติยศประกอบศพ ได้แก่ หีบ โกศ ฉัตร ปี่ แตร กลองชนะ ฯลฯ
ตามแต่ชั้นยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน
ซึ่งเป็นเครื่องประกาศคุณงามความดีในวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้บุคคลที่ไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หากถึงแก่กรรม
ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานหีบหลวง
จะได้รับพระราชทานหีบทองลายองุ่น
การขอพระราชทานเพลิงศพ
มี 2 กรณี คือ
ก) การขอพระราชทานเพลิงศพ
ข) การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
ก) หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเพลิงศพ
1. ข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานและระดับปฏิบัติการขึ้นไป (ระดับ 3 เดิม)
สำหรับในกรณียังไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
2. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ขึ้นไป
ข) หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
1. บิดา มารดาของข้าราชการระดับชำนาญงานและระดับชำนาญการขึ้นไป (ระดับ6 เดิม)
2. บิดา
มารดาของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) ขึ้นไป
3. ผู้ที่บริจาคร่างกายหรืออวัยวะแก่สภากาชาดไทย
โรงพยาบาลของรัฐหรือสถานศึกษา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
4. ผู้บริจาคทรัพย์สินเพื่อการกุศล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
ข้อพึงรู้
1) บุคคลผู้ทำลายชีพตนเองและผู้ต้องอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถขอพระราชทานเพลิงศพและเครื่องเกียรติยศประกอบ
2) สำหรับการขอพระราชทานเพลิงศพทั้ง 2 กรณี จะต้องไม่ตรงกับวันเฉลิม
พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล
อ้างอิง www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/roa/Ry160_542.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น